วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 31/01/57

สิ่งที่เรียนรู้
การจัดกิจกรรมคีรีบูน
         การจัดกิจกรรคีรีบูนจัดขึ้นในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. การจัดกิจกรรมคีรีบูนเป็นการจัดกิจกรรมดนตรีที่จัดให้เด็กฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวโน้ตของเสียงต่างๆ ทั้ง ตัวโด เร มี ฟา ซอล ลา ที  ฝึกการฟังเสียงของตัวโน้ต ฝึกการฟังตัวโน้ตจากคุณครูแล้วกดคีย์บอร์ดตามเสียงนั้นๆที่ครูสั่ง  และสุดท้ายเป็นการฟังนิทานเพื่อฝึกกระบวนการคิด รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล เนื่องจากครูผู้สอนใช้คำถามจากนิทานด้วยคำว่า “ใคร”  “ทำไม”  “ที่ไหน”  ทำให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เรื่องที่ฟังอยู่ตลอดเวลา
 ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
          การจัดกิจกรรมทางดนตรีเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบและให้ความสนใจมาก เด็กบางคนที่สมาธิสั้น  พอเข้ากิจกรรมนี้แล้ว กับตั้งใจนั่งฟังเสียงตัวโน้ตจากคุณครู กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเสริมที่ดี เพื่อฝึกสมาธิให้กับเด็ก ทำให้เด็กนิ่งขึ้น การสอนด้วยการตั้งคำถามเป็นฝึกกระบวนการคิด รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
           การสอนโดยฝึกผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิด ได้แก่ การสอนด้วยการตั้งคำถาม โดยใช้หมวกความคิด 6 ใบของ ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน  ซึ่งใช้สีเป็นชื่อหมวกเพื่อให้มองเห็นภาพของหมวกได้โดยง่าย สีของหมวกแต่ละใบยังสอดคล้องกับแนวความคิดของหมวกแต่ละใบด้วย
              - หมวกสีขาว แสดงถึงความเป็นกลาง เช่น เรามีข้อมูลอะไรบ้าง เราได้ข้อมูลที่ต้องการมาโดยวิธีใด
              - หมวกสีแดง หมายถึง การมองทางด้านอารมณ์และความรู้สึก เป็นการแสดงอารมณ์สัญชาตญาณลางสังหรณ์ประทับใจความโกรธ ความสนุก ความอบอุ่น และความพอใจ
              - หมวกสีดำ แสดงถึงความมืดครึ้ม จึงหมายถึง เหตุผลด้านลบ เหตุผลในการปฏิเสธ เป็นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
              - หมวกสีเหลือง แสดงถึงความสว่างไสว และด้านบวก จึงหมายถึง เหตุผลทางบวก ความมั่นใจ
              - หมวกสีเขียว แสดงถึงความเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ จึงหมายถึงความคิดสร้างสรรค์และความคิดใหม่ ๆ
              - หมวกสีฟ้า แสดงถึงความเยือกเย็น ท้องฟ้า ซึ่งอยู่เหนือทุกอย่าง จึงหมายถึงการควบคุมและจัดระเบียบกระบวนการและขั้นตอนการใช้หมวกสีอื่น ๆ ทำหน้าที่เหมือนผู้ควบคุมวงดนตรี
ที่มา : http://patpattama06102535.wordpress.com/2013/11/26/

เสนอเเนวทางปฎิบัติจากความรู้ใหม่
           ในการจัดกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ควรสอดแทรกกิจกรรมคีรีบูนไว้เพื่อให้เด็กได้ฝึกสมาธิ  เพื่อกระตุ้นส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย , อารมณ์-จิตใจ , สังคม และ สติปัญญา (IQ,EQ,MQ,PQ) ให้เต็มตามศักยภาพของเด็ก และจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย และ มีการสอนวิชาพิเศษ
เด็กๆ ฟังเสียงตัวโน้ตจากครูผู้สอนเเล้วร้องตัวโน้ตตาม
เด็กๆเตรียมพร้อมในกาฟังตัวโน้ต
เด็กๆฟังตัวโน้ตจากเพลงที่ครูเปิดเเล้วใส่ตัวโน้ตตามเพลง
เด็กๆตั้งใจฟังนิทานฝึกกระบวนการคิดโดยใช้คำถามอย่างสนุกสนาน

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 30/01/57

สิ่งที่เรียนรู้
การใช้ทรายสีแทนการระบายสี
การใช้ทรายสีแทนการระบายสี
           ศิลปะสร้างสรรค์ประเภทนี้คุณครูจะมีภาพให้ ติดด้วยกาวสองหน้าเเบบบาง เมื่อเริ่มทำกิจกรรมเด็กๆ จะลอกเทปกาวออก แล้วเอาทรายสีโรยติด ใช้มือเกลี่ยให้ทั่ว เททรายสีส่วนเกินกลับคืน ทำแบบนี้ไปทีละช่องจนครบ 
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
           การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เช่นนี้เป็นการจัดกิจกรรมที่ดี  สลับกับการใช้สีไม้ หรือสีเทียน เป็นกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะการใช้ทรายสีทำให้เด็กฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา  ส่งเสริมความแข็งแรงของนิ้วมือ และเด็กเองรู้สึกชอบ อยากที่จะโรยสี  ซึ่งสังเกตได้จากการทำกิจกกรมของเด็กเอง ที่ต้องใจเททรายสีลงในเเต่ละช่องอย่างสวยงาม
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
            การจัดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กนั้นผู้จัดกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดกิจกรรม ต้องมีการศึกษาทดลองและพัฒนากิจกรรมอย่างเป็นระบบ เด็กปฐมวัยเป็นเด็กในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่พัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์กำลังเจริญเติบโตจึงต้องการการส่งเสริมด้วยกิจกรรมศิลปะที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างเข้าใจและยั่งยืน  กิจกรรมศิลปะที่มีรากฐานมาจากความคิดที่หลากหลายและผ่านการทดลองอย่างเป็นระบบจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อเด็กเป็นอย่างมาก เสรีภาพทางความคิดและการปฏิบัติกิจกรรมศิลปะตามความต้องการของผู้เรียนเป็นการสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ ที่ครูศิลปะจะต้องจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน เพราะการที่เด็กแสดงออกได้มากเท่าไร นั่นย่อมหมายความว่า เขาได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้มากเท่านั้น และนั่นย่อมหมายถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เพิ่มขึ้น  เมื่อปัญหาเดิมได้รับการตอบสนองไปเรียบร้อยแล้ว  และนั่นยอมหมายถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เพิ่มขึ้นเมื่อปัญหาเดิมได้รับการตอบสนองไปเรียบร้อยแล้ว  เด็กอาจยุ่งยากใจกับการแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงแต่ในโลกแห่งศิลปะ เขามีวิธีการในการเข้าไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาเสมอถ้าครูหรือผู้ปกครองไม่เข้าไปแย่งชิงช่วงเวลาอันมีคุณค่าของการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตามเสรีภาพของเด็กด้วยความหวังดีที่ขาดความเข้าใจ 
ที่มา : http://etcserv.pnru.ac.th/kmpnru/index.php?module=knowledge/
เสนอเเนวทางปฎิบัติจากความรู้ใหม่
            ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการวาดภาพระบายสี  ควรสลับไปมาระหว่างใช้ทรายสีกับการใช้สีไม้ หรือสีเทียน เพราะจะทำให้เด็กไม่เบื่อหน่ายต่อกิจกรรมนั้นๆ และเป็นการเตรียมพร้อมความแข็งแรงของนิ้วมือไปสู่ระดับชั้นต่อๆไป การจัดกิจกรรมถือเป็นกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้ที่สำคัญประการหนึ่งที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆต่อไป

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 29/01/57

สิ่งที่เรียนรู้
การจัดกิจกรรมเน้นผูเรียนเป็นสำคัญโดยใช้ศูนย์การเรียนรู้  หน่วย "ที่นี่...กรุงเทพ"
        ในการเรียนการสอนหน่วย ที่นี่...กรุงเทพ  เรื่อง "คนค้นกรุง"  ได้มีการจัดพาเด็กไปดูศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเก่าแก่ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ มี 4 ชุมชน ได้แก่ชุมชนกุฎีจีน  ชุมชนคนจีน  ชุมชนบ้านบาตร  ชุมชนเชื้อสายแขก  จัดเป็นมุมการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยภาพประกอบการคำบรรยายของดีของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีสื่อของจริงเพื่อให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสได้มอง จับ สื่อของจริง ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้ อยากเห็นในเรื่องที่เรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น    
เด็กๆกำลังสนใจชุมชนกุฏีจีน ซึ่งเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่มีความเก่าแก่ของฝั่งธนบุรีที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่สมัยยุคกรุงธนบุรี และเป็นย่านชุมชนซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
เด็กๆกำลังให้ความสนใจดูภาพของตลาดพาหุรัดที่เป็นเหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายแขก
เด็กๆ ชอบที่จะซักถามหรือให้ความสนใจกับรูปภาพของคนเชื้อสายจีนย่านเยาวราช
ชุมชนบ้านบาตรเป็นชุมชนอีกแห่งที่เก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร
    ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
         การพาเด็กไปดูศูนย์การเรียนรู้ที่จัดให้เด็กๆ ได้ดูตามหน่วยโดยเน้นการจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นที่จะรับความรู้ที่ครูผู้สอนพยายามจะถ่ายทอดออกมาให้เด็กมากที่สุด การใช้สื่อของจริงจึงมีประโยชน์มากที่เด็กสามารถเห็นผ่านรูป สิ่งของเครื่องใช้ ทำให้เด็กสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างละอียดมากขึ้นกว่าการฟังจากครูผู้สอนอย่างเดียว ช่วยทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
         วัฒนาพร ระงับทุกข์  กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ วิธีการสำคัญที่สามารถสร้างและพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดคุณลักษณะต่างๆ ที่ต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิดการจัดการศึกษานี้เป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามต้องการอย่างได้ผล 
ที่มา : http://etcserv.pnru.ac.th/kmpnru/index.php?module=knowledge/

เสนอเเนวทางปฎิบัติจากความรู้ใหม่
       การจัดรูปแบบการสอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป ควรให้เด็กได้เดินดูสิ่งของที่เป็นของจริงบ้าง จะทำให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสในการมอง การจับต้องสิ่งของ จะทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานกับการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ทั้งนี้ในการจัดการเรียนสอนต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย
สื่อที่ใช้จัดเเสดงในชุมชนบ้านบาตร
สื่อของจริงชุมชนกุฎีจีน
สื่อของจริงชุมชนเชื้อสายเเขก
สื่อของจริงชุมชนคนจีน
เด็กกำลังสนใจวาดภาพของชุมชนที่ตนเองสนใจ

แนะนำตนเอง(^^<)

ชื่อ รวีวรรณ   นามสกุล นิ่มครุธ   ชื่อเล่น ไซอิ๋ว ^^<
คณะครุศาสตร์  สาขาการศึกษาปฐมวัย
รหัสนักศึกษา 53111320235  ตอนเรียน D1
เกิด วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 2535  อายุ 21 ปี
สัญชาติ ไทย  เชื้อชาติ ไทย  ศาสนา พุทธ

>> ฝึกสอนโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ  ชั้นอนุบาล 3  ห้อง 736  
ครูประจำชั้น ครูอัญชลี  ข้าวสามรวง (ครูอ้อ) <<

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 27/01/57

สิ่งที่เรียนรู้
การจัดกิจกรรมประสานสัมพันธ์มือกับตาด้วยศิลปะบนกระดาษ
        กิจกรรมนี้จัดช่วงเวลา 10.00-10.30 น. เป็นกิจกรรมที่เด็กๆใช้กำลังของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ร่วมกัน เพื่อใช้ประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาในการตัดกระดาษ การออกแบบตกแต่ง การจัดวางตำแหน่งของดอกไม้
คุณครูอธิบายวิธีทำศิลปะบนกระดาษ

เด็กๆ เริ่มตัดกระดาษเป็นรูปร่าง

  เด็กเริ่มทำศิลปะบนกระดาษอย่างสนุกสนาน

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
        กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีต่อเด็กมากเพราะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาได้อย่างดีจากการฝึกใช้กรรไกร เช่นเดียวกับการใช้นิ้วจับสีเพื่อระบายภาพ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ นอกจากนี้เด็กยังฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตัดใบไม้

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
         กีเซลล์ (Gesell)  การที่เด็กแสดงความสามารถในการจัดกระทำ กับวัสดุ เด็กต้องใช้ความสามารถของการใช้สายตาและกล้ามเนื้อมือ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของระบบประสาทและการเคลื่อนไหวประกอบกัน ลักษณะพัฒนาการที่สำคัญของเด็กในระยะนี้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเคลื่อนไหว การทำ งานของระบบประสาทกล้ามเนื้อ การพัฒนาความสามารถในการควบคุมร่างกาย การบังคับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยกีเซลล์ได้ศึกษาความสามารถของเด็กตามแบบธรรมชาติ โดยสังเกตพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่  แรกเกิดจนเติบโตเต็มที่ การสังเกตมีทั้งสังเกตด้วยตาและถ่ายภาพยนตร์เอาไว้ศึกษาโดยละเอียด 
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=834814

เสนอเเนวทางปฎิบัติจากความรู้ใหม่
       ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งควรสอดแทรกกิจกรรมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่อยู่เสมอ เนื่องจากเป็นการฝึกเด็กจากขั้นเเรกไปจนถึงขั้นจับ ขีดเขียน โดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ควบคู่กันไป ทั้งนี้ต้องเกิดความสนุกสนานให้เด็กได้เพลิดเพลินจนอยากกระทำซ้ำอีก

บันทึกการปฏิบัติงาน : 28/01/57

สิ่งที่เรียนรู้
การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย
        คุณครูให้เด็กลงสนามเพื่อวอร์มร่างกายให้เเข็งเเรง และเด็กก็ชอบกิจกรรมนี้มาก  การจัดกิจกรรมการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะการเล่นเป็นประสบการณ์ที่มีการเตรียมเด็กให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา เมื่อเด็กได้ยินคำสั่งของคุณครู ให้เล่นเครื่องเล่นได้ เด็กเกิดความสนุกสนาน ดีใจ ทำให้เด็กชื่นชอบที่จะมาโรงเรียน เพราะการเรียนที่เน้นเขียน อ่าน อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายได้ เป็นการระบายพลังงานที่เหลือให้เป็นไปตามธรรมชาติ หาความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อเป็นการพักผ่อนโดยเด็กไม่รู้สึกเหนื่อย
   
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
        การเล่นเป็นสิ่งที่เด็กชอบมาก  เพราะทำให้เด็กได้คิดอย่างอิสระเสรี  ได้วิ่งเล่น เเละอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างดี  ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้การเข้าสังคมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เด็กจึงรู้สึกชอบที่เข้าหาผู้อื่น และเกิดความกล้าที่จะแสดงออก

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
        เยาวพา  เดชะคุปต์  (2542 : 20)  ก็กล่าวว่า การเล่นเป็นกิจกรรมที่เป็นหัวใจและมีความสำคัญเพราะเป็นการสนองความต้องการทางจิตใจ  คือ เกิดความสนุกสนาน  ขณะที่เด็กเล่นจะเกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย เด็กจะเรียนรู้ได้ดีโดยผ่านประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีโอกาสพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย
ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/466792

เสนอเเนวทางปฎิบัติจากความรู้ใหม่      
         การเล่นเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เด็กจะแสดงความหมายต่าง ๆ ผ่านการเล่น ครูจึงสามารถวางแผนใช้การเล่นของเด็กเป็นการเรียนรู้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงความสนุกสนานที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้  เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลปฏิสัมพันธ์ และประสบการณ์ของเด็กในสังคม         
         นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะและการสร้างความสัมพันธ์ในทางสังคม เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะใช้วัสดุเครื่องมือต่าง ๆ รู้จักหน้าที่ของตนเอง  นอกจากนี้ยังสามารถช่วยสร้างเสริมกระบวนการพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน ให้เด็กได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย





การเล่นของเด็กสาธิตละอออุทิศ