วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผังมโนทัศน์ประจำหน่วยการเรียนรู้

แผนผังมโนทัศน์ประจำหน่วยการเรียนรู้
"ที่นี่...กรุงเทพ"

สิ่งที่ได้เรียนรู้
         หน่วยที่นี่...กรุงเทพ จัดการเรียนการสอนไว้หัวข้อใหญ่ๆ 7 หัวข้อ ได้แก่ ประวัติความเป็นมา  ชุมชนดั้งเดิม  สถานที่พักผ่อน  แหล่งจับจ่ายใช้สอย  สถานที่สำคัญ  การคมนาคม  แหล่งการเรียนรู้
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
          การจัดการเรียนรสอนจัดเรียงลำดับจากขั้นง่ายไปสู่เรื่องที่ยาก ทำให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดในการจัดกระบวนการการเรียนรู้

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปประสบการณ์การปฏิบัติวิชาชีพครู

สรุปประสบการณ์การปฏิบัติวิชาชีพครู
ด้านการบริหารงานวิชาการ
          โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มุ่งเน้นพัฒนาทั้งบุคลากร ครู และเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา อัตลักษณ์ของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศคือการที่ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข และเอกลักษณ์ของโรงเรียนคือการส่งเสริมกระบวนการคิดของเด็ก โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักการใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในการเเสวงหาความรู้ สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
ด้านการจัดการเรียนรู้/การจัดประสบการณ์ 
          มีการพัฒนาสื่อเเละเทคโนโลยีที่หลากหลายในการจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี  ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการ ความรู้ ความสามารถ อย่างเต็มตามศักยภาพในการจัดการเรียนรู้  ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะกระบวนการคิด การทำงานร่วมกับผู้อื่น ให้เด็กเเสวงหาความรู้ของเด็กแต่ละคน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอเเนะ
         การจัดการเรียนการสอนทั้งด้านการบริหารงานวิชาการ และด้านการจัดการเรียนรู้ของเด็กโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ เป็นกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย สังคม สติปัญญา และอารมณ์ของเด็กเต็มตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนอย่างสุดความสามารถ เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นประถมศึกษาต่อไป
 
 

 

 
 

 

บันทึกผลหลังการสอน 10/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
       แผนการจัดประสบการณ์ กิจกรรมสงบ (ปริศนาคำทาย)  หน่วย "ที่นี่..กรุงเทพ"  ชั้นอนุบาล 3 ห้อง736





            การสอนครั้งนี้จัดอยู่ในกิจกรรมสงบ ของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ เพื่อส่งเสริมทักษะทางด้านภาษาของเด็กปฐมวัย โดยข้าพเจ้าได้จัดทำสื่อปริศนาคำทายในรูปแบบ Pop Up เพื่อเร้าความสนใจของเด็ก มีจำนวนทั้งสิ้น 5 คำถาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถานที่ในกรุงเทพมหานคร โดยมีคำถามดังนี้ 1.อะไรเอ่ย เป็นสถานที่ มีช้างมีลิง อีกสัตว์มากมาย เด็กๆทั้งหลายชอบไปเที่ยวกัน (สวนสัตว์) 2.อะไรเอ่ย พื้นที่กว้างใหญ่ พระราชาอาศัย เป็นที่บรรทม (วัง) 3.ฉันคือสถานที่ มีของมากมาย หลากหลายสารพัน ทั้งเก่าทั้งแก่ เผยเเพร่ความรู้ (พิพิธภัณฑ์) 4.ฉันคือสถานที่ มีหนังสือหลากหลาย มากมายความรู้ เด็กๆลองทายดู สถานที่นี้คืออะไร (ห้องสมุด) 5.ฉันคือสถานที่ เผยเเพร่ธรรมะ มีพระมีเณร ฉันคือสถานที่อะไร (วัด)
           ขั้นนำ คุณครูจะเริ่มต้นด้วยการสนทนากับเด็กเกี่ยวกับสถานที่ที่เด็กเคยไป โดยขออาสาสมัคร เพื่อเเลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของเด็ก  และสร้างข้อตกลงในการตอบคำถาม โดยให้เด็กยกมือตอบ 
          จากนั้นขั้นสอน คุณครูถามคำถามกับเด็ก โดยถ้าเด็กจะตอบให้ยกมือขึ้น ครูจะเป็นผู้ให้สัญญาณในการตอบ  ขั้นสรุป เด็กและคุณครูร่วมกันอ่านปริศนาคำทายอีกครั้ง และสรุปคำตอบที่ได้    
บันทึกหลังการสอน
        เด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ห้อง 736 กระตือรือร้น และสนใจมาก เพราะเด็กๆชอบปริศนาคำทาย และขอให้มีคำถามมาอีก เด็กๆให้ความร่วมมือ เเละสนุกสนานใการคิดคำตอบเป็นอย่างมาก  โดยก่อนจะสอนได้ถามคุณครูว่าจะสอนเรื่องอะไร เมื่อได้ยินว่าเป็นปริศนาคำทายเด็กๆ ดีใจมากก่อนที่จะเริ่มสอนเสียอีก
            





บันทึกการปฏิบัติงาน : 13/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
        การทำซุ้มอนุบาล 3 
        ครูฝึกสอนชั้นอนุบาล 3 ได้รับมอบหมายให้จัดทำซุ้มจบการศึกษาของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 เพื่อใช้สำหรับถ่ายรูป
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
        ได้รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม และการประสานร่วมมือกันระหว่างครูและนักศึกษาฝึกสอน เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน 
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่
          การทำงานร่วมกันต้องใช้ความร่วมมือ การประนีประนอม การปรึกษาหารือ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 



วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 12/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
       ทัศนศึกษานอกสถานที่ ณ สวนรมณีนาถ

     เด็กๆ ออกเดินทางเวลา 09.00 เพื่อเดินทางไปสังเกตรอบๆสวนเพื่อให้เด็กรู้จักตำเเหน่งที่ตั้ง ของสิ่งของ สถานที่ที่ในแต่ละจุดว่าอยู่ในตำเเหน่งไหน
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้

       การจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้เปิดโอกาส เปิดโลกทัศน์ ให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการมอง ได้เห็นสถานที่จริง ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้  อยากค้นคว้า กระตือรือร้นในการหาข้อมูล สร้างความรู้ความใจในการหาคำตอบด้วยตัวของเด็กเอง
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
        ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นทฤษฏีที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ  เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล นอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองแล้ว ยังเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย  
ที่มา  :  http://1sutida036.blogspot.com/2011/07/constructivism.html
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่
          การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาควรจัดให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กอยากรู้ อยากศึกษา เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่สามารถ สัมผัส จับต้อง ได้เห็น ได้ยิน จากสิ่งที่เป็นของจริง การจัดการเรียนรู้นอกสถานที่จึงจำเป็นมากสำหรับเด็กในการค้นคว้าหาคำตอบให้กับตนเอง โดยการเสวงหาความรู้ด้วยตนเอง





บันทึกการปฏิบัติงาน : 11/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
        การจัดการเรียนการสอนดนตรี (ลีลาศ)
        กิจกรรมดนตรี สอนโดยครูอารี เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กฝึกการฟังเสียงของตัวโน้ต เสียงสูง เสียงต่ำ และกิจกรรมเข้าจังหวะหรือลีลาศ เต้นประกอบเพลงกรุงเทพราตรี

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
        เป็นกิจกรรมที่เด็กเกิดความสนุกสนาน ตั้งใจเรียน โดยเฉพาะการเต้นลีลาศเด็กๆชอบมาก เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหว ทั้งเเขนเเละขา ฝึกทักษะการฟังเสียงตัวโน้ต จังหวะในการย่างก้าวเดินของเด็ก ซ้ายไปขวา เดินหน้า ถอยหลัง
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
        ลีลาศ เป็นกิจกรรมกีฬาและนันทนาการประเภทหนึ่ง ที่สามารถพัฒนา ร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีส่วนพัฒนาบุคลิกภาพและมารยาทในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างมาก ในการออกลีลาศแต่ละครั้งผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ทักษะ ทั้งในด้านการทรงตัว การก้าวเท้าการวางตำแหน่งของขา แขน มือและลำตัวรวมถึงสีหน้าแววตา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพและเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติลีลาศได้เป็นอย่างดี บทเพลงและทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการลีลาศ ล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงที่ทรงคุณค่าทั้งในด้านสุนทรียศาสตร์และการอนุรักษ์ ซึ่งผู้ออกลีลาศหรือผู้ปฏิบัติลีลาศนั้นจะต้องมีทักษะในการฟังเพลงที่สามารถก้าวเท้าและเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับจังหวะ และท่วงทำนองเพลงได้อย่างเหมาะสม นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน กิจกรรมลีลาศยังคงเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนามนุษย์และสังคมเรื่อยมาและเป็นการแสดงออกถึงความมีอารยะธรรม และมารยาททางสังคม
ที่มา : http://qa.src.ku.ac.th/plan/faculty/projprinting_54_all.asp?id=2388&fc=OSC&yy=2554
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ 
         ลีลาศเป็นกิจกรรมนันทนาการและกีฬาประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทั้งการฟังเพลง การก้าวเท้า บุคลิกภาพ และมารยาททางสังคมในการออกลีลาศ อันเป็นเส้นทางในการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก  ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาไปสู่ทักษะด้านอื่นๆ

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 10/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
       การจัดประสบการณ์ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย
       กิจกรรมศิลปะจัดขึ้นช่วงเวลา 10.00-10.30 น. วันนี้ครูผู้สอนให้เด็กพิมพ์ภาพลงบนกระดาษ ด้วยยางลบ จัดวางรูปแบบเหมือนกำเเพงอิฐ เพื่อให้เด็กเว้นช่วงระยะระหว่างช่อง 
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
       การจัดกิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่ดีทั้งต่อด้านจินตนาการของเด็ก ด้านการประสานสัมพันธ์กันระหว่างนิ้วมื้อของเด็กในการพิมพ์ภาพ ทำให้เด็กฝึกการจัดวางระยะการพิมพ์ยางลบลงบนกระดาษ  
       การจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กปฐมวัยในแต่ละวัน นับว่ามีความสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาแล้ว กิจกรรมศิลปะยังสอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ของสมองด้วย
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
        ศรีเรือน แก้วกังวาน (2540: 232) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางศิลปะ เป็นพัฒนาการควบคู่ทั้งด้านความคิดและทักษะ พัฒนาการทางศิลปะของเด็ก มีความพิเศษกว่าของผู้ใหญ่ในเรื่องความสามารถทางกายด้านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว รวมทั้งความสามารถด้านสมองเชิงสร้างสรรค์ และแสดงออกทางจินตนาการ ซึ่งมีค่าต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจและความคิดเชิงบวก             
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/pannida/2011/10/28/entry-2
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ 
       การจัดกิจกรรมทางศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย ควรตั้งจุดประสงค์ในการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก  จากนั้นจึงเป็นการกำหนดเนื้อหาและวางแผนกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะเด็กในด้านต่างๆ    แม้ว่าจะมีการเตรียมการในขั้นตอนนี้อย่างดี  แต่เด็กก็ยังเป็นเด็กที่มักมีนิสัยซุกซนอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว  การสร้างแรงจูงใจให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้





          

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 07/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
       การจัดการเรียนการสอนบูรณาการในการจัดกิจกรรมเสรี
       หน่วย "ที่นี่...กรุงเทพมหานคร"
       กิจกรรมคณิตศาสตร์ มีตั๋วรถเมลล์ โดยให้เด็กเรียงลำดับตามตัวเลขที่เด็กหยิบ
 
         กิจกรรมวิทยาศาตร์ ให้เด็กสำรวจเเผนที่ในกรุงเทพมหานคร     
         กิจกรรมเกมการศึกษาจิ๊กซอว์ มีภาพจิ๊กซอว์เป็นสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร
      กิจกรรมศิลปะ มีภาพยานพาหนะได้แก่ เครื่องบิน รถ รถไฟ ฯลฯ โดยมีกระดาษสีชิ้นเล็กๆ ไว้สำหรับติดลงบนกระดาษ
      กิจกรรมสร้างสรรค์ ใช้ฝาขวดน้ำที่มีเส้นตรงตัดอยู่ข้างบน โดยให้เด็กต่อเป็นรูปตามจินตนาการ

       กิจกรรมภาษา ให้เด็กหยิบบัตรคำขึ้นมา แล้วใช้ลวดที่มีลูกปัดร้อยขดเป็นคำที่เด็กหยิบ
ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
       การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชาช่วยแบ่งเบาภาระในการสอนของครู  เน้นความสำคัญของผู้เรียน ผู้เรียนจะสามารถควบคุมกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้ และเป็นผู้ที่จะริเริ่มลงมือกระทำ ผู้สอนมีหน้าที่อบรมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้โดยการค้นพบ ให้โอกาสผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
       การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามความสนใจ ความสามารถ และความต้องการ โดยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียน ทั้งทางด้านสติปัญญา(Cognitive) ทักษะ (Skill) และจิตใจ (Affective) สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน
http://www.gotoknow.org/posts/400257
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ 
          การสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ยังผลให้เกิดการพัฒนาในด้านบุคลิกภาพในทุก ๆ ด้าน ผู้เรียนสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ การแก้ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้พื้นฐาน การสอนแบบบูรณาการจะให้ความสำคัญกับครูและนักเรียนเท่าเทียมกัน ทำกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันแบบประชาธิปไตย

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บันทึกการปฏิบัติงาน : 06/02/57

สิ่งที่เรียนรู้
        มุมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
        เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นวัยที่มีการพัฒนาทางสติปัญญา สูงที่สุดของชีวิต ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นทักษะที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยสามารถคิดหาเหตุผล แสวงหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาได้ตามวัยของเด็ก  การจัดมุมวิทยาศาสตร์หน่วย "ที่นี่...กรุงเทพ" เป็นการจัดให้เด็กได้ศึกษาเเผนที่ โดยใช้เเว่นขยาย เพื่อหาตำเเหน่งที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยใช้การสังเกตของเด็ก  กิจกรรมนี้ฝึกเด็กให้เป็นคนช่างสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียดเล็กๆน้อย ทำให้เด็กสนุกสนานที่จะเรียนรู้โดยใช้เรื่องใก้ลตัวเรียนรู้

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
       การกระตุ้นให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้น ควรจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยสามารถคิดหาเหตุผล แสวงหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาได้ตามวัยของเด็ก
ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
        วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตลอดชีวิตของทุกคนต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น  การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลายและ มีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์ขึ้น รวมถึงการนำความรู้ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุผล มีคุณธรรม นอกจากนี้ยังช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ การดูแลรักษาตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน 
       การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควรเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมีประสบการณ์ตรง ได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยมีครูเป็นผู้ตอบสนองความสนในของเด็กและส่งเสริมการจัดโครงสร้างความคิดจากประสบการณ์ เพื่อพัฒนามุมมองและความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการส่งเสริมทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลและมีความรับผิดชอบที่รักษาสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวอย่างเหมาะสมตามวัย 
ที่มา : http://home.acn.ac.th/html_edu/cgi-bin/acn/main_php/print_informed.php?id_count_inform=188
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ 
       การจัดกิจกรรมควรให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานหรือทักษะเบื้องต้นที่ควรส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนา มี 7 ทักษะกระบวนการ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการวัด ทักษะการสื่อความหมาย ทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา และทักษะการคำนวณ การจัดกิจกรรมควรจัดกิจกรรมที่มีควาหลากหลายเพื่อให้เด็กสามารถใช้ทักษะด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ

บันทึกการปฏิบัติงาน : 05/02/57

สิ่งที่เรียนรู้    
            การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยกิจกรรมการสานกระดาษ  
            การสานกระดาษสีเป็นกิจกกรรมเสรีที่เด็กสามารถเลือกทำกิจกรรมด้วยความอิสระตามความสนใจ กิจกรรมการสานกระดาษเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก  ความคิด ความจำ การสังเกต เเละการเปรียบเทียบของช่องระหว่างที่สาน เป็นการฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี


 ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้
            การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเเป็นกิจกรรมที่สำคัญเเละมีความจำเป็นต่อการพัฒนาในทุกๆส่วนของร่างกาย เพื่อไปสู่ขั้นต่างๆ ได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนโดยเฉพาะการฝึกความพร้อมในการเขียนตัวหนังสือ



ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
             กล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นอวัยวะที่สำคัญหนึ่งในการประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น การใส่-ถอดกระดุม รูดซิป การแปรงฟัน ผูกเชือกรองเท้า งานศิลปะ รวมทั้งการขีดเขียน ถ้าเด็กใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างคล่องแคล่วจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น ด้านสติปัญญาให้ดีขึ้น เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กมีส่วนทำให้เด็กได้ใช้มือสำรวจ สังเกต จากการสัมผัสจับต้องในทุกกิจกรรม  (อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิ์กุล. 2546: 111ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อมือเพื่อจับต้องของเล่นและเรียนรู้ทักษะในการช่วยเหลือตนเอง เช่น การกินอาหารและแต่งตัว เป็นการฝึกความพร้อมด้ามกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือให้แข็งแรงใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว และการฝึกความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือจะช่วยให้เด็กได้ออกกำลังและพร้อมที่จะใช้ในการเขียน (พูนสุข บุณย์สวัสดิ์. 2545: 41) เด็กจะสามารถเขียนสิ่งใดได้ ก็ต่อเมื่อมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมือและสายตาทำงานประสานสัมพันธ์กันได้ดี (เยาวพา เดชะคุปต์.2548: 123) ซึ่งจะทำให้การควบคุมและประสานงานกันของกล้ามเนื้อมัดเล็กกับสายตามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของการรับรู้ และสติปัญญาของเด็กปฐมวัยด้วย (กุลยา ตันติชีวะ.2452: 64)
ที่มา  :  research.cru.in.th/RDI_FILE/020240/Chapter_2.docx
เสนอเเนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่                             
              ถ้าครูผู้สอนพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือของเด็กให้แข็งแรง  เด็กก็พร้อมที่จะลากลีลามือซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียน การส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กจึงเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือที่มีความสำคัญต่อเด็กมาก เพราะเด็กต้องใช้มือในการทำกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การหยิบจับ ปั้นแต่งสิ่งต่างๆ การฝึกความพร้อมของกล้ามเนื้อเล็ก นิ้วมือให้แข็งแรงใช้ได้คล่องแคล่ว จะทำให้เด็กเกิดความพร้อมที่จะใช้ในการเขียน